-->
ผู้อ่านคือลมหายใจของนักเขียน

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ทศกัณฐ์ลิขิต


            “เจอกันครั้งแรกเขาเรียกพรหมลิขิต เจอกันครั้งที่สองเขาเรียกบังเอิญ...”
            เปล่า... ผมไม่ได้พิมพ์ผิด นั่นคือประโยคก็อปปี้จากภาพยนตร์รักที่ออกจากปากของเพื่อนผม เพื่อนที่ชอบสรรหาถ้อยคำเนี้ยบๆ คมๆ มาพูดให้บาดหูคนอื่นเล่น (บางครั้งก็คมไม่พอ บาดไปก็ไม่เข้า กลายเป็นแผลถลอก) แต่คราวนี้มันก็อปปี้ไม่แนบเนียนเลยมีการสลับที่ระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “บังเอิญ”
            “แบบนี้กูขึ้นรถเมล์ที ก็เจอพรหมลิขิตทั้งคันเลยดิวะ” ใครคนหนึ่งโพล่งออกมาให้เจ้าของประโยคขายหน้าด้วยเสียงหัวเราะเยาะเย้ยก้อนใหญ่ ก่อนผมจะแก้ต่างให้
            “เจอกันครั้งแรกเรียกบังเอิญ เจอกันครั้งที่สองเรียกพรหมลิขิตโว้ย!

            ผมไม่ได้ชอบหรือศรัทธาประโยคนั้นเป็นพิเศษ แต่ฟังดูแล้วก็เข้าท่าดี เผื่อว่าได้เจอคนที่ถูกใจเป็นครั้งที่สอง จะลองนำไปใช้ดูว่าได้เรื่องหรือได้เลือด
            จากประโยคเบื้องต้น พรหมลิขิตของการเจอกันครั้งที่สองน่าจะหมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยมีความน่าจะเป็นเพียงน้อยนิด โลกนี้มีประชากรกว่าหกพันล้านคน การพบหน้าคนๆ เดียวกัน (ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่เพื่อนร่วมงาน ร่วมโรงเรียน ร่วมหอลงโรง ฯลฯ) ถึงสองครั้งในชีวิต ว่ากันตามหลักการ (แบบโง่ๆ) โอกาสคือหนึ่งในหกพันล้านยกกำลังสอง ช่างกระจ้อยร่อยจนแทบเป็นไปไม่ได้ จึงไม่แปลกที่จะอนุมานไปว่ามี “บางอย่าง” ที่บันดาลชักพา และดลให้มาพบกันทันใด
            แต่แล้ว...
            วันหนึ่งขณะรอรถเมล์อยู่ที่ป้าย ผมพบหญิงสาวคนหนึ่ง เธอผิวขาว ตัวเล็ก ใส่แว่นกรอบใหญ่ อายุมากกว่าผมเล็กน้อย เราขึ้นรถเมล์คันเดียวกัน รุ่งขึ้น ผมไปที่ป้ายรถเมล์ในเวลาเดิม ผมเจอเธออีกครั้ง เราสองสบตา แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกจั๊กจี้หัวใจแต่อย่างไร นึกถึงประโยคที่เพื่อนพูดก็พลางรู้สึกว่า "พรหมลิขิตนี่ไม่ค่อยตื่นเต้นเลยนะ"
            พอถึงวันที่สามผมจึงเข้าใจว่ามันไม่ใช่เรื่องโรแมนติกของพระเจ้าหรือพรหมลิขิตอะไรหรอก เพราะผมเจอเธออีกครั้งในที่เก่าเวลาเดิม วันที่สี่หรือห้าผมก็ยังเจอเธออีกจนกลายเป็นเรื่องปกติ วันไหนที่ไม่เจอจะรู้สึกมหัศจรรย์กว่า เพราะชีวิตประจำวันและสถานการณ์ที่บังคับทำให้ผมต้องพบเธอตรงนั้นในเวลาเดิมอยู่ทุกวัน หาใช่ความปรารถนาของกามเทพ
            การเปรียบเทียบระหว่างความบังเอิญและพรหมลิขิต ทำให้สองสิ่งถูกแยกจากกันทั้งที่ผมรู้สึกว่ามันคือเรื่องเดียวกัน แต่ใครสักคนก็อาจแย้งว่าพรหมลิขิตคือโชคชะตาที่ถูกขีดเส้นไว้แล้วด้วยอะไรบางอย่าง ก่อให้เกิดความรักความสวยงาม และอื่นๆ อีกมากมาย ฯลฯ บลาๆ ส่วนบังเอิญก็คือ...บังเอิญไง
            เพื่อนผมเรียกการเจอกันครั้งที่สองว่าพรหมลิขิต (เพราะมันเชื่อที่หนังพูด) หากเช่นนั้นผมจะเรียกการเจอกันครั้งที่สาม สี่ ห้า ว่าอะไรดี พระพรหมมี 4 หน้า มากกว่านั้นก็คงเป็น... ทศกัณฑ์ซึ่งมี 10 หน้า ใช่แล้ว! นี่คือ “ทศกัณฐ์ลิขิต”... ฟังดูไม่ค่อยโรแมนติกเท่าไร
            บางทีอาจไม่ต้องรอถึงสองครั้ง สมมติถึงหญิงสาวคนหนึ่ง และชายหนุ่มรูปงาม เพียงแรกพบเธอสบตาเขาก็รู้สึกซาบซ่า ดังสวรรค์บันดาลคู่ใจมาให้ เธอเรียกสิ่งนั้นว่าพรหมลิขิต แต่โชคไม่ดีที่เขาไม่ลิขิตด้วย และเรียกสิ่งนั้นอย่างเลือดเย็นว่าความบังเอิญ
            บางคู่รู้จักกันตั้งแต่ยังเป็นเฟรชชี่ พอใกล้สิ้นสุดปี 4 กามเทพเพิ่งนึกได้ว่าต้องแผลงศร ฉากรักจบลงเอยสวยงามในตอนท้าย เราอาจเรียกสิ่งนั้นว่าการเรียนรู้ที่ยาวนาน แต่พวกเขาเรียกมันว่าพรหมลิขิต
            บางคนเลิกรานับสิบ สุดท้ายเจอตัวจริงของหัวใจ เราเรียกสิ่งนั้นว่าการคัดเลือก แต่เขาก็ยืนยันว่าพรหมลิขิต         
            บางวันเราเจอคนที่ชอบโดยไม่นัดหมาย ยังไม่ทันเอ่ยปากทักทาย เธอบอก “บังเอิญจังนะ...” ทั้งที่ใจเราบอก “แม่งพรหมลิขิตชัดๆ”
            ดังนั้นต่อให้เป็นคำเดียวกัน แต่เมื่อถูกใส่ในกล่องความรู้สึกคนละใบ คุณค่า น้ำหนัก และความหมายก็เปลี่ยนไป
            อาจไม่สำคัญว่าเราจะเจอกันกี่ครั้ง นี่เป็นครั้งที่เท่าไร เป็นพรหมลิขิตหรือความบังเอิญ แต่สำคัญว่าเมื่อพบกันแล้ว สบตากันแล้ว รู้จักกันแล้ว เรารู้สึกต่อกันอย่างไร บางคนอาจรู้สึกช้า บางคนอาจรู้สึกเร็ว และบางคนก็ไม่รู้สึกอะไรเลย ไม่มีใครควบคุมมันได้ แม้แต่เจ้าของ
            พระเจ้าอาจมีจริง กามเทพอาจมีตัวตน และกำลังวางแผนให้เราพบรักกับใครสักคนในวันพรุ่งนี้ แต่จะสำคัญอะไรถ้าเราอยากจะรักคนในวันนี้
            พจนานุกรมออนไลน์ (Longdo) ยกตัวอย่างประโยคของ “พรหมลิขิต” ว่า “ผู้กล่าวว่าชีวิตมนุษย์สุดแล้วแต่พรหมลิขิตเป็นการกล่าวแก้ตัวของคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อชีวิต” บางทีผมอาจบอกเพื่อนให้เลิกเก็บคำคมจากภาพยนตร์แล้วเปิดพจนานุกรมออนไลน์แทน

          “เจอกันครั้งแรกเรียกอะไรนะ...” วันหนึ่งเพื่อนถามผมเมื่อมันอยากรื้อฟื้นคำคมที่จำไม่ได้
            “บังเอิญ”
            “แล้วครั้งที่สองล่ะ”
            “ก็บังเอิญ”
            “ใช่เหรอวะ... แล้วถ้าครั้งที่สามล่ะ” นี่เป็นตัวอย่างของคนที่พยายามเรียกหาพรหมลิขิต
            ผมมองหน้าเพื่อน ขมวดคิ้วและยิ้ม ก่อนตอบคำถาม
            “แปลว่าบ้านเขาอยู่แถวนั้น”


คาเมะคุง
29/ 12 / 2555
วันเกือบสิ้นปีที่ยังเฝ้ารอพรหมลิขิตอยู่