-->
ผู้อ่านคือลมหายใจของนักเขียน

วันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555

พี่ชาย


            1
          นานมาแล้วที่ผมไม่ได้กลับมาเยี่ยมร้านรวงนี้
            กลิ่นเนื้อสัตว์ที่โดนความร้อนของโลหะอาบน้ำมันอวลฟุ้งคละเคล้ากับกลิ่นเนยละลายหอมเตะจมูก
            เตะในระดับที่ว่าถ้าเป็นพรีเมียร์ลีก ก็รุนแรงปานลูกเตะของฟานเพอร์ซี่ นั่นปะไร มอนิเตอร์ขนาดใหญ่ของร้านขึ้นภาพของนักเตะคนนี้อยู่พอดี
            ยืนเก้กังอยู่ไม่นาน เจ้าของร้านที่พวกเราคุ้นเคยก็ไม่ปล่อยให้พวกเราต้องยืนเมื่อย เขาปรากฏโฉมหน้าหล่อเหลาทันที “พี่อาร์ท” เขาเป็นทั้งเจ้าของร้าน ทั้งรุ่นพี่ ทั้งพี่ชาย และอื่นๆ มากมาย ที่สำคัญคือ เขาไม่ธรรมดา
            เราสามคนกล่าวทักทายพี่อาร์ทอย่างเป็นกันเอง ผมโผกอดเขาด้วยความคิดถึง เราไม่เคอะเขินต่อสายตาลูกค้ารายอื่นๆ ที่อาจมองเราเป็นมากกว่าพี่น้อง เรื่องเช่นนี้มีแค่คนที่รู้กันเท่านั้นที่เข้าใจ ไม่ต้องถามว่าเราคบกันแบบไหน (ก็แบบพี่น้องไงล่ะวะ)
            พี่อาร์ทนำเราไปยังโต๊ะตัวหนึ่ง แสงไฟเหลืองอมส้มของร้านตกกระทบเฟอร์นิเจอร์ไม้แบบคลาสสิก ประกอบกับช่วงเวลาที่ดวงดาวส่องประกายเต็มท้องฟ้า ลมพัดโชยมาแผ่วเบา ราตรีไหนเลยจะน่าอภิรมย์ไปกว่าราตรีนี้
            พวกเราชายสี่แต่ไม่ใช่บะหมี่เกี๊ยว (ระดับนั่งร่วมโต๊ะกับเจ้าของร้านนั้นเส้นต้องใหญ่กว่าบะหมี่แน่นอน) พูดคุยถึงความทรงจำที่เราเคยมีส่วนร่วมเดียวกันอย่างออกรสออกชาติ หอม มัน อร่อยไม่แพ้เนื้อหมูที่ย่างอยู่ในกระทะบนโต๊ะ ความทรงจำแห่งลูกผู้ชายอันยากที่หญิงสาวจะเข้าใจ ทั้งเรื่องฟุตบอล เรื่องผู้หญิง (ที่ผู้หญิงไม่คุยกัน) และเรื่องสัพเพเหระต่างๆ นานา
            พี่ชายสุดที่รักของผมสั่งเบียร์มาให้ แล้วหยิบยื่นให้ผมดังเช่นหลายครั้งที่ผ่านมา ผมส่ายหน้าเปื้อนยิ้มเช่นเคย เขามักจะแซวผมว่าเป็นเด็กเนิร์ดบ้าง เด็กดีบ้าง ทำเอาเขินอายทุกครั้งไป
            เบียร์ในมือพี่อาร์ททำให้ผมหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่เรามีส่วนร่วมเดียวกันเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์ที่ทำให้ผมประทับใจพี่ชายคนนี้จากก้นบึ้งหัวใจ

2
            เคยได้ยินหลายครั้งหลายหนว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์นั้นโด่งดัง เป็นที่เลื่องลือกันอย่างกว้างขวาง ใครไม่รู้จักนี่เชยบรรลัย เห็นท่าจะจริง เพราะเมื่อครั้งล่าสุด ก่อนไปผมได้เอ่ยปาก – ไม่สิ ต้องเรียกว่าเอ่ยนิ้ว – พิมพ์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กเชิญชวนน้องนางคนหนึ่ง
            “ไปงานบอลกันมั้ยจ๊ะ ฮิฮิ”
             “คือไรหรอ?”
            อืมม์ โด่งดังเสียจริง...
            ผมจึงตัดสินใจว่าจะเดินทางไปสมทบกับเพื่อนอีกคนซึ่งทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานแห่งชุมนุมเชียร์ธรรมศาสตร์ (Staff) หวังให้มันพาเข้าไปดูบอลฟรี
            แต่แล้วทุกอย่างก็ผิดแผน เพื่อนพนักงานเคราะห์ไม่ดี (ตอนนี้นั่งย่างหมูอยู่ข้างๆ) เป็นคนดำเนินงานแท้ๆ แต่จำต้องขึ้นอัฒจันทร์ไปยกป้ายแปรอักษรซะงั้น สถาบันของเราคงขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่ทนแดดทนฝนอยู่มาก
             ผมชั่งใจว่าจะยอมเสียเงินซื้อบัตรเข้าชมราคา 200 บาท แลกกับฟุตบอลแมตช์มิตรภาพดีไหม เพราะก่อนหน้านี้ผมได้กลั้นใจจ่ายเงิน 180 บาทสำหรับ “เสื้อเชียร์” สีเหลืองอร่าม ที่เหลือแค่ไซส์ L XL XXL XXXL XXXX… ฯลฯ อาจเป็นผลพวงมาจากการเผยแพร่งานวิจัยว่าคนไทยอ้วนเกินมาตรฐานก็เป็นได้ สุดท้ายแล้วคนผอมแห้งอย่างผมจึงต้องซื้อไซส์ L อย่างเสียไม่ได้ (อยากให้เข้าใจโดยทั่วกันว่า ผมชอบ L ก็จริง แต่เฉพาะในการ์ตูนและภาพยนตร์เรื่องเดธโน้ตเท่านั้น)
            ผมหาที่นั่งพัก คิดหาทางออก ผู้คนมากหน้าหลายตาผ่านไปมา ล้วนแต่สวมเสื้อเชียร์ของสถาบันของตนเอง ฝั่งตรงข้ามมีสีเดียว ทั้งยังอ่อนหวานนุ่มนวล แต่สถาบันของเรานั้นร้อนแรง มีทั้งเหลืองและแดง ปีนี้ออกแบบเป็นสีเหลือง ปีก่อนเป็นสีแดง ใครไม่ใคร่จะซื้อเวอร์ชันใหม่ หรือไม่ใคร่ในสีเหลืองก็อาจจะใส่อีกสีมาไม่มีใครว่า เป็นปรากฏการณ์ความหลากหลายของสีสันที่นานๆ ที เหลือง แดงและชมพู จะอยู่ร่วมพื้นที่กันได้อย่างไม่ตะขิดตะขวง
            “เฮ้ย”
            เพียงพยางค์เดียว ความรู้สึกที่คุ้นเคยก็แผ่ซ่าน ผมละสายตาจากสาวจุฬาฯ หน้าหมวยมายังชายหนุ่มในเสื้อเชิ้ตลายสก็อตตรงหน้า
            “มาคนเดียวหรอ ไปนั่งกับพวกพี่ก็ได้”
            ผมตอบรับข้อเสนออย่างไม่ลังเล แต่ก่อนอื่น พี่ชายผมต้องการ “เสื้อเชียร์” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมนี้อย่างเต็มตัว ผมพาตรงไปยังแถวซื้อเสื้อเชียร์ พี่ผมคนนี้รูปร่างพอฟัดพอเหวี่ยงกับเสื้อไซส์ L
            แต่ข่าวร้ายก็บังเกิดเมื่อ L ถูกเขียนชื่อลงเดธโน้ตเสียแล้ว คงมีแต่ยางามิ ไลท์เท่านั้นที่ยิ้มกระหย่อง ตรงข้ามกับพี่อาร์ทที่ออกอาการเซ็ง แต่ก็ทำใจยอมรับว่า มันก็ต้อง XL ล่ะวะ จะให้ทำไงได้
            เดินออกจากซุ้มขายเสื้อ บังเอิญว่าบริเวณนั้น มีเสื้อเชียร์ที่แขวนไว้เป็นแบบให้ลูกค้าตัดสินใจ มีทุกไซส์ ทุกขนาด พี่อาร์ทขอความเห็นทันที
            “แลกกับตรงนี้ได้เปล่าวะ”
            ผมขำก๊ากกับไอเดียของแก คิดว่าแกช่างพูดล้อเล่นได้ตลกร้ายเสียจริง แต่หารู้ไม่...
            “เฮ้ยนี่พี่เอาจริงหรอเนี่ย”
            “เออ”
            เขาล้วงไฟแช็กจากกระเป๋ากางเกงขึ้นมา จุดและลนไปยังเชือกฟางที่สอดรั้งเสื้อเหล่านั้น เชือกค่อยๆ ละลาย และแยกจากกันในที่สุด เสื้อไซส์ L ถูกดึงออก แทนที่ด้วย XL ตัวใหม่แกะถุง (ไม่ได้ใส่กล่อง เลยไม่ต้องแกะกล่อง)
            แม้ว่าพฤติการณ์นี้ออกจะประเจิดประเจ้อไปสักหน่อย แต่โชคดีว่าคนที่เดินผ่านไปผ่านมานั้นไม่ใช่คนบางแค พวกเขาจึงไม่แคร์เราสองคน แม้ผมจะเป็นคนบางนา แต่ผมก็แคร์บางคนแถวนั้น ตรงข้ามกับพี่อาร์ทที่คงไม่เคยกินเอแคล์ รวมทั้งแกงส้มดอกแค แกเลยไม่ต้องแคร์ใคร ผมได้แต่ยืนหัวเราะอายๆ กับวีรกรรมของเขา คำพูดสุดท้ายที่แกคุยกับเพื่อนทางโทรศัพท์ในวินาทีนั้นยังประทับในใจผมเสมอ
            “กูดอยเสื้อเชียร์ข้างสนามอยู่”
            พี่อาร์ทได้ไซส์ L สมใจ ผมพาเขาไปเปลี่ยนเสื้อในห้องน้ำ ในที่สุดเราทั้งสองก็เป็นส่วนหนึ่งของงานฟุตบอลประเพณีอย่างเต็มตัว พี่อาร์ทกล่าวทิ้งท้ายชวนให้คิด
            “ไม่ได้ขโมยนะ” พูดจบเราสองคนก็ปล่อยขำออกมาพร้อมกัน

3
            นอกจากการแลกเปลี่ยนของอย่างผิดกฎหมายแล้ว พี่อาร์ทบอกผมว่า ไม่ต้องเสียเงินซื้อบัตรเข้าชม เพราะเพื่อนอีกสองคนของแกที่จะตามมาสมทบนั้นซื้อไว้แล้ว พอเพื่อนเข้าไป ก็ให้ยื่นบัตรออกมาผ่านช่องว่างระหว่างกำแพง แล้วเราสองคนก็อาศัยบัตรนั้นเข้าไปอีกรอบ เป็นแผนการอันแยบยลเหลือขนาด ไม่ต้องรู้สึกผิด คนไทยยอมรับว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
            เท่านั้นไม่พอ ดูบอลมันต้องมีเบียร์ แต่เผอิญงานนี้ไม่ใช่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ที่นี่สนามศุภฯ ไม่ใช่โอลแทรฟฟอร์ด การพกพาของมึนเมาเข้าไปดื่มย่อมเป็นเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ (ที่ปกติก็มึนเมากันเป็นประจำ) ยอมรับไม่ได้
            แต่พี่อาร์ทไม่ได้อยากให้ใครมายอมรับ เขาแค่อยากดื่ม เมื่อเพื่อนตามมาสมทบดังที่ตกลงแล้ว เราก็จัดแจงไปจับจ่ายของมึนเมาจากร้านโชห่วยบริเวณใกล้เคียง ซึ่งหาได้ไม่ยาก บรรจุใส่ถุงกระดาษที่แถมมากับเสื้อเชียร์ แล้วแอบหิ้วฝ่าด่านตรวจบัตรเข้าไป ราวกับขนเหล้าเถื่อนผ่านชายแดนมาเลเซีย ผมถามซื่อๆ ว่า ถ้าโดนตำรวจจับได้ล่ะ
            “ก็ชวนเขาดื่มด้วยกันไง”
             ผมยอมรับว่าเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง แต่ก็อดคึกคะนองและส่งเสริมไปด้วยไม่ได้ ชีวิตลูกผู้ชายมันต้องแบบนี้สิวะ
            แผนส่งบัตรผ่านช่องกำแพงถูกเปลี่ยนเป็นแพลน B เมื่อเราได้พบกับกลุ่มคนกิตติมาศักดิ์ พวกเขาเรียกตัวเองว่า “กองเชียร์ปีศาจ” ประกอบด้วยนักฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขนกันมาเชียร์นักกีฬารุ่นพี่ลงสนามในวันนี้ และนับเป็นโชคดีในความบาปของพวกเรา พี่อาร์ทดันสนิทสนมกับบุคคลเหล่านี้เป็นพิเศษ ว่าแล้วเราก็เข้าไปในโซนที่นั่งราคา 200 บาท ได้โดยสะดวกอุรา พร้อมเครื่องดื่มกระป๋องต้องห้ามเหล่านั้น
            การณ์ทุกอย่างเหมือนจะราบรื่นไปจนถึงบั้นปลาย หากไม่เกิดอุบัติเหตุ “ถุงแตก” (ถุงกระดาษ ไม่ใช่ถุงอื่น) เสียก่อน ยังไม่ทันหาที่นั่งหย่อนก้น เบียร์ 6 กระป๋องจากถุงในมือพี่อาร์ทก็ร่วงกราวลงพื้นในโซน 200 บาท! ซึ่งอัดแน่นด้วยผู้ชมมากหน้าหลายวัย! สายตานับร้อยเพ่งมายังจุดๆ เดียว! (ในเหตุการณ์จริงนั้นน่าตกใจมาก จึงต้องใส่เครื่องหมายตกใจมากหน่อย) หน้าตาของผมตื่นตระหนกไม่แพ้พี่อาร์ท แต่เราทั้งคู่ก็ยังอดหัวเราะไม่ได้ นี่มันหนังตลกชัดๆ
            แต่อย่างที่รู้กัน คนพวกนี้ไม่ใช่คนบางแค จึงไม่แคร์เราเช่นเคย ไม่มีใครสนใจหรืออยากจะเอาผิดพวกเรา หรืออาจจะมีแต่ขี้เกียจ พี่อาร์ทใช้มือและวงแขนทั้งสองกอบโกยเบียร์เหล่านั้นมาไว้ในทรวงอก ใช้เสื้อเชิร์ตปิดทับกันอุจาดไว้อีกทบหนึ่ง ราวกับว่าเบียร์พวกนั้นกำลังล่อนจ้อน ต้องหาผ้าผ่อนนุ่ง พวกเรารีบมองหาที่นั่ง จับจองได้ที่เหมาะเจาะ สูงเกือบสุดของอัฒจันทร์ ปลอดสายตาจราจรและเทศกิจ ผมนั่งลงแล้วหันไปหัวเราะกับพี่ชายตัวแสบ
            “พี่นี่เหลือเกินจริงๆ”
             พี่อาร์ทหัวเราะลั่น พร้อมยื่นเบียร์ให้ผมกระป๋องหนึ่ง เช่นที่เคยทำก่อนหน้านี้หลายครั้ง ก้นกระป๋องบุบเล็กน้อยจากแรงกระแทกเมื่อครู่ ผมยิ้มและส่ายหน้าเช่นเคย ไม่รู้ว่าแกจำไม่ได้ว่าผมไม่กินเหล้า หรือแค่อยากรู้ว่าผมกินเหล้าเป็นหรือยังกันแน่
            “ไอ้เด็กดีเอ๊ย” ยังไม่วายแซวผมเหมือนเดิม
            พูดกันตามตรง วีรกรรมในวันนั้นไม่ใช่เรื่องดีงาม ตรงกันข้าม ออกจะแลดูเสเพลในสังคมนี้ด้วยซ้ำ แต่อย่างไรผมก็ยกย่องและนับถือพี่ของผมอย่างสุดหัวใจ เขาเคยบอกผมด้วยประโยคเท่ๆ ว่า
            “ชีวิตนี้เกิดครั้งเดียว ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างสุดชีวิต”

4
            กว่าชั่วโมงครึ่งที่เรานั่งสุงสิง เฮฮากันอยู่บนเก้าอี้ไม้และโต๊ะอาหารเดิม ลมยังคงพัดโชย ดาวยังไม่เลิกส่องแสงระยับ ขวดเบียร์เปล่าตั้งเรียงบนโต๊ะไม่ต่ำกว่า 10 ขวด ลูกค้าในร้านเริ่มบางตา กรรมการฟุตบอลในจอมอนิเตอร์เป่านกหวีดหมดเวลา เห็นทีคืนนี้จะทดเวลาน้อยไปหน่อย เพราะสองสหายและหนึ่งพี่ชายกำลังอารมณ์ได้ที่ทีเดียว
            “เฮ้ย ช่วยอะไรพี่หน่อยได้เปล่าวะ” พี่อาร์ทพูดด้วยน้ำเสียงเมาเคลิ้ม
            พี่เป็นดั่งฮีโร่ เป็นพี่ชายสุดที่รักของผม ต่อให้ต้องสละเส้นผมทั้งหัวเพื่อพี่ผมก็พร้อมทำ (แต่ขอคิดดูก่อน) อย่าว่าแต่ช่วยอะไรหน่อยเลยครับ ช่วยมากๆ ก็ยังได้
            “ให้ผมช่วยอะไรครับ พี่ว่ามาเลย”
            แกโน้มตัวเข้ามาหา มือขวาจับไหล่ซ้ายของผมราวกับจะทรงตัวบนเก้าอี้ไม่อยู่
            “ช่วยพาพี่ไป...”
            ผมเริ่มใจไม่ดี

          “โอ้กกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!
           
            ลมเย็นยังคงพัดมาไม่หยุด และรุนแรงขึ้นนิดหน่อย ฟ้าสว่างเริ่มมีเมฆเทาลอยเลื่อนเป็นม่านบังแสงดาวให้จางลง ราตรีนี้เห็นทีจะยังอีกยาวไกล...
            โธ่พี่ บอกแล้วไงว่าผมไม่กินเบียร์!



คาเมะคุง

วันอังคารที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2555

ฟุตบอล + โลก


            โลกเราก็เหมือนฟุตบอล
            ความจริงจะเปรียบให้เหมือนอะไรก็พูดได้ แต่ในที่นี้ผมชอบฟุตบอลมากที่สุด เลยจะเปรียบกับฟุตบอล
            ไม่ได้เหมือนตรงที่มันกลมๆ เหมือนกัน แต่คล้ายคลึงกันในระดับโครงสร้าง ในระบบ ในกลไก ในสมาชิกของมัน
            โลกประกอบด้วยประชากรมนุษย์กว่าหกพันล้านคน คนน่ารักนั้นมีมากมาย ส่วนพวกน่าชังก็จำนวนไม่แพ้กัน หลายคนอาจเคยจินตนาการเหมือนผมว่า ถ้าโลกนี้มีแต่คนนิสัยดี เรียบร้อย พูดน้อย น่ารัก เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่ชอบทำตัวเด่น ทำเพื่อผู้อื่น ฯลฯ โลกอาจจะสงบสุขและสวยงามปานยูโทเปีย
            แต่เวลาดูบอล เราคงไม่ได้ต้องการทีมยูโทเปียเท่าไร
            ในโลกของฟุตบอล แม้จะไม่เท่ากับโลกจริงๆ แต่ประชากรนักฟุตบอลก็มีมากเกินกว่าที่เราจะจดจำใบหน้า ทำความรู้จักได้ครบ เรามักรู้จักแต่คนดัง (ไม่ต่างจากโลกความเป็นจริงนัก) เราอาจรู้จัก Leonel Messi มากกว่า Chris Smalling (กองหลังแมนยูฯ) หรือรู้จัก Martin Skrtel (ปราการหลังลิเวอร์พูล) น้อยกว่า Cristiano Ronaldo แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใครจะดังเท่ากัน หรือดังน้อยกว่า บทบาทหน้าที่ สไตล์การเล่นของแต่ละคนล้วนแตกต่าง จะมีคล้ายคลึงบ้างก็เล็กน้อย แต่ก็ไม่เรียกว่าถอดแบบเลยทีเดียว
            ดังนั้นเราจึงมีทั้งนักฟุตบอลน่ารักและนักฟุตบอลน่าชังเช่นกัน หากเปรียบโลกเป็นฟุตบอลแล้ว ก็ยังอดจินตนาการไม่ได้ว่าถ้าโลกแห่งฟุตบอลประกอบด้วยนักฟุตบอลที่มีคุณสมบัติสุภาพ ไม่เล่นรุนแรง ไม่เล่นตุกติก เคารพกติกา ไม่ชอบทำตัวเด่น เล่นเพื่อทีม ฯลฯ ฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่สะอาดและน่าดูมากขึ้นหรือเปล่า?
            ไม่นานมานี้ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูคลิปการเล่นของนักฟุตบอลคนหนึ่งในทีมชาติบราซิล ซึ่งขึ้นชื่อในการเล่นอย่างสวยงาม เร้าใจคนดูมาตั้งแต่ยุคที่ฟุตบอลเพิ่งกำเนิดขึ้นมา นักเตะคนนั้นมีชื่อว่า Neymar
            ปกติการเล่นฟุตบอล หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ใช้คนมากกว่าหนึ่ง เรารู้กันดีว่าทีมเวิร์กเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่ผมพบในคลิปคือ หมอนี่เล่นฟุตบอลคนเดียวมากกว่าเล่นกับเพื่อน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วเป็นสิ่งที่ค่อนข้างน่ารังเกียจสำหรับเพื่อนร่วมทีม อุปมาอุปมัยแล้วก็อาจเป็นนักฟุตบอล “น่าชัง” คนหนึ่ง
            แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปไป เพราะผลลัพธ์หลังจากการชมคลิปนี้คือ ผมหลงใหลในการเล่นอันเร่าร้อน พลิ้วไหว มุละทุ และยียวนของ Neymar เข้าอย่างจัง (ใครอยากชมคลิปนี้ลองพิมพ์ชื่อเขาลงไปใน youtube)
            ถ้าให้เปรียบเรื่องความ “น่าชัง” ของ Neymar กับนักฟุตบอลคนอื่นๆ ก็อาจเป็น Roy Kean อดีตกองกลางตัวรับขาโหดของแมนยูฯ ที่มีรูปแบบการเล่นอย่างดุดันเกินเกมกีฬา เคยเสียบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจนเดินเขยก นอนเดี้ยงมาหลายราย หรือจะเป็นพวกชอบเล่นตุกติกหลบสายตากรรมการอย่างเจ้าของฉายา “Hand of God” หรือหัตถ์พระเจ้า Diego Maradona ที่เคยใช้มือชกลูกบอลเข้าประตูไปในการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 1986 นัดชิงชนะเลิศ ต่อหน้าต่อตานักฟุตบอลอังกฤษที่ต้องน้ำตาตก ชวดแชมป์ไปเพราะการเล่นผิดกติกาของเขาคนนั้น
            นอกจากนี้ยังมีนักฟุตบอลน่าชังอีกหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นพวกชอบพุ่งล้มเพื่อเอาฟาว์ลอย่างที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ หรืออื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนผิดเพี้ยนไปจากโลกยูโทเปียที่จินตนาการไว้ สุภาพ เคารพกติกา ไม่ชอบทำตัวเด่น ฯลฯ
            แต่เราจะทนดูฟุตบอลต่อได้หรือถ้าปราศจากนักฟุตบอล “น่าชัง” เหล่านี้
             โลกที่ดีต้องมีความหลากหลาย ใครบางคนเคยบอกผมแบบนั้น ไม่ว่าจะหลากหลายด้วยสิ่งร้ายปนสิ่งดีก็ตาม เพราะถึงจะตุกติกอย่างไร ฟุตบอลก็ยังมีกติกา มีกรรมการ ไม่ต่างจากที่สังคมมีกฎเกณฑ์ มีผู้รักษากฎหมาย ซึ่งจะมีใครเล็ดรอดออกไปก็เป็นเรื่องสัจธรรม คงไม่มีใครกล้าฟันธงได้ว่าทุกคนจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์
            สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า เราจะรับมือและอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
            หากเป็นเพื่อนร่วมทีม เราจะร่วมงานกับคนเหล่านี้อย่างไร เราจะให้บทบาทที่เหมาะสมที่สุดกับเขาอย่างไร
            ผมเชื่อ และคิดว่าหลายคนก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าคน “น่าชัง” คนหนึ่ง ย่อมมีข้อดีหรือความน่ารักอยู่ในตัว ไม่แน่ว่าคนปากหมา อาจจะน้ำใจงาม คนที่เคยฆ่าคน ที่บ้านอาจจะมีสัตว์เลี้ยงแสนรักหลายตัว ใครเล่าจะรู้
            แม้บางครั้งยากที่จะปฏิเสธว่าบางพฤติกรรมของบางคนก็น่าชังเกินกว่าจะทนอยู่ร่วมโลกกันได้ แต่หากโลกคือละคร แน่นอนว่าฉากดราม่าย่อมเป็นสีสันอันสำคัญของเรื่อง ซึ่งอาจทำให้ฉากอื่นๆ ที่เปี่ยมด้วยความสุขนั้นสวยงามและมีพลังมากขึ้น
            ถามอีกครั้งว่าถ้าโลกความจริงเป็นดังยูโทเปีย โลกจะน่าอยู่จริงหรือเปล่า อาจจะจืดชืดพอๆ กับฟุตบอลที่ไม่มีนักเตะจอมลากเลื้อย ตัวตัดเกมที่ดุดัน และนักเตะเจ้าเล่ห์ที่สร้างสีสันให้เกมอยู่เสมอ เราก็คงไม่ได้ดูละครน้ำเน่าที่มีฉากตบกัน เพราะไม่เคยมีคนตบกันมาก่อนบนโลกนี้ ไม่ได้ดูภาพยนตร์สนุกๆ ที่เต็มไปด้วยฉากรบราฆ่าฟันในเหตุผลเดียวกัน
            ใครคนหนึ่งเคยพูดเท่ๆ ไว้ว่า “โลกใบนี้สมบูรณ์ได้ด้วยความไม่สมบูรณ์”
            ซึ่งคนคนนั้นก็มีหลายอย่างในตัวที่ไม่สมบูรณ์
            คนเขียนเรื่องนี้ไงครับ



คาเมะคุง