-->
ผู้อ่านคือลมหายใจของนักเขียน

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555

เงินทอน


            ท่ามกลางเสียงเงียบในห้องหับเล็กแคบ
            “ขอตัวไปกินข้าวก่อนนะครับ”
            ชายร่างท้วมใหญ่ ผมหยักศกยาวประบ่า สีหน้าเรียบเฉย แว่นตาบดบังหน้าต่างของหัวใจเอาไว้ไม่ให้ใครเดาความรู้สึกได้ง่ายๆ เขาไม่เอ่ยถ้อยคำใดๆ เพียงพยักหน้าเป็นสัญญาณอนุญาต
            หลังจากนั่งหลังแข็งอยู่ 4 ชั่วโมง ท้องไส้ของผมเริ่มครวญครางให้รู้ว่าถึงเวลาอาหารกลางวัน
            แดดยามบ่ายอ่อนๆ ส่องแสงเจิดจ้าพร้อมไอร้อนระอุ ผมเดินออกจากออฟฟิศ ทำตาหยีสู้แสง ของเหลวใสๆ แต่เข้มข้นซึมผ่านผิวหนังออกมาทีละน้อย ลามไปเป็นความเปียกชุ่ม ผมสอดสายตามองหาร้านที่ถูกใจ
            ล้วงกระเป๋าสตางค์ออกจากกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำกันมา 3 วัน สำรวจทุนอาหารกลางวันครั้งนี้ สิ่งที่มองเห็นทำให้ต้องสบถคำหยาบ
            “เชี่ย”
            ไม่มีเงินในกระเป๋าแม้แต่บาทเดียว ผมคงจะลืมไปว่าใช้เงินหมดแล้ว ลืมแบมือขอเงินพ่อเงินแม่มาเติม เงินเดือนไม่มี เป็นแค่เด็กฝึกงานให้เขาใช้ฟรีๆ เท่านั้น
            ความร้อนแทรกซึมเข้าภายในจิตใจ ผมแทรกมือเข้าไปในกระเป๋ากางเกงอีกข้าง-กางเกงที่ใส่ซ้ำมาแล้ว 3 วันโดยไม่ผ่านสารชะล้างใดๆ ฟังดูสกปรก แต่เชื่อว่าหลายคนทำเช่นนี้
            เดชะบุญ ความสกปรกช่วยผมไว้ แบงก์ 20 สองใบยับยู่ยี่รวมเป็นเนื้อเดียวกันนอนขดอยู่ในกระเป๋ากางเกง ความร้อนในจิตใจเริ่มคลายลง ผมหยิบมันขึ้นมา คลี่ออกช้าๆ นึกย้อนถึงที่มาของมัน
            ภาพเหตุการณ์เมื่อวานฉายขึ้นในหัว
            มันคือเงินทอนค่าอาหารเย็นที่บอสฝากผมไปซื้อ เขาใจป้ำ เลี้ยงอาหารลูกน้องทุกคนบ่อยๆ หลายครั้งที่ผมรับหน้าที่นี้ เงินที่ใช้สำหรับจับจ่ายมักจะเหลือเฟือเสมอ ที่น่าสนใจคือ บอสไม่เคยทวงเงินทอนแม้เพียงครั้งเดียว แต่เด็กฝึกงานผู้ซื่อสัตย์ย่อมไม่ประพฤติตัวคดโกง คอร์รัปชันเงินทอนเป็นแน่ เพียงแต่เมื่อวาน เขาแค่ลืมคืนเท่านั้น
            นับเป็นโชคดีที่การหลงลืมครั้งนั้น ช่วยบรรเทาความหิวในครั้งนี้ เงิน 40 บาทผมขอเป็นค่าแรงเล็กๆ น้อยๆ แล้วกัน ระดับบอสคงไม่ซีเรียสอยู่แล้วใช่ไหม?
            ความวัวกำลังจะหาย แต่ความควายก็เข้ามาแทรกเสียก่อน เมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น หน้าจอปรากฏตัวอักษร “บอส บ.
            “ผมฝากซื้ออาหารหน่อย เอาผัดซีอิ๊ว ไม่ใส่ไข่นะ”
            น้ำเสียงเย็นเยือกทำให้ผมไม่สามารถออกเสียงคำอื่นได้ นอกจาก “ครับ”
            ในยุคข้าวยากหมากแพง เงิน 40 บาทย่อมไม่พอสำหรับอาหาร 2 ที่เป็นแน่ ผมพยายามแก้โจทย์คณิตศาสตร์นี้ มีเงิน 40 บาท ต้องซื้อผัดซีอิ๊วหนึ่งกล่อง และยาไส้ตัวเองด้วย มันจะเป็นไปได้ยังไง
            หากแก้โจทย์ไม่ได้ ผมจำต้องเปลี่ยนโจทย์ให้เหลือตัวแปรเดียวคืออาหารของบอส คงไม่มีหน้าไปบอกบอสว่า เงินไม่พอซื้อผัดซีอิ๊วเพราะซื้อข้าวกินไปหมดแล้ว ผมคงทนรอมื้อเย็นที่บ้านได้ จะเรียกว่าประจบก็คงไม่ผิดนัก เพราะเท่าที่รู้มา สิ่งมีชีวิตที่ยอมก้มหน้าก้มตา อดทน ทำสิ่งต่างๆ เพื่อใครคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้สึกดีด้วยเป็นพิเศษ แต่เพียงเพราะต้องการผลตอบแทนบางอย่าง ก็มีแต่ “คน” เท่านั้น
            ผมเดินกรำแดดต่อไปเพื่อหาร้าน พลังกายพลังใจถูกแผดเผาจนเกือบสิ้น เป็นระยะทำใจที่ยากจะทนทาน นอกจากหิวแล้วยังต้องยอมรับให้ได้ว่า “มื้อนี้กูอด”
            ระหว่างที่สองขาค่อยๆ ก้าวไป สายตาเริ่มพร่ามัวเพราะแสงจ้า ผมหยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมาอีกครั้ง ค้นทุกซอกมุม เผื่อจะบังเอิญมีเงินซุกซ่อนอยู่ บัตรนักศึกษาเสียบไว้ในช่องพลาสติกใส ผมจ้องตากับรูปถ่ายในบัตรของตัวเอง เหมือนเขาอยากบอกอะไรบางอย่าง
            บัตรนักศึกษาของผมเป็นบัตร ATM ควบด้วย แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้มานาน เงินในบัญชีก็ไม่เพิ่มขึ้นนับแต่ปิดเทอมครั้งล่าสุด ครั้งสุดท้ายที่ใช้มันผมถอนเงินที่เหลือออกมาแทบหมดบัญชี วิกฤติครั้งนี้จึงไม่อยากพึ่งพาอะไรมันมากนัก
            แต่ลองดูก็ไม่เสียหาย จุดหมายของผมเปลี่ยนจากร้านอาหารเป็นตู้ ATM

            XXXX >>> ดูยอดคงเหลือ >>> ออมทรัพย์

            169.42 บาท
            “กูรอดแล้ว”
            100 บาทคือจำนวนมากที่สุดที่ตู้ให้ผมได้ แต่มันก็เพียงพอแล้วสำหรับโจทย์นี้
            อุณหภูมิในร่างกายของผมลดลงอย่างประหลาด บางทีจิตใจก็มีผลมากกว่าความรู้สึกทางกายภาพ แสงแดดเจิดจ้าราวแสงเลเซอร์กลับให้ความรู้สึกสดใส อบอุ่น มากกว่าการทำลายล้าง
            ผมนั่งกินข้าวอย่างสำราญใจ คำสุดท้ายเข้าปาก ดื่มน้ำตามอึกใหญ่ แล้วลุกไปเคลียร์ค่าอาหาร
            “สองอย่าง 60 บาท”
            ผมถือถุงผัดซีอิ๊วไร้ไข่กลับออฟฟิศ รู้สึกภูมิใจเล็กๆ แสงอาทิตย์ตอนนี้ไม่แรงเท่าตอนออกจากออฟฟิศ

            “ทำไมนานนักล่ะ”
            “หาตู้ ATM กดเงินอยู่ครับ”
            คำตอบของผมน่าจะสะกิดความรู้สึกบางอย่างของบอสได้ ถึงไม่ใส่ไข่แต่ไม่ใช่ของฟรี
            ไม่มีเสียงตอบกลับ เขาหยิบกล่องโฟมในถุงพลาสติกออก เปิด แกะพริกป่นเททั้งซอง แกะถุงน้ำส้มสายชูเทลงนิดหน่อย ใช้ช้อนพลาสติกตักพริกดองในน้ำส้มออกทั้งหมด ราดลงบนอาหาร ซองน้ำตาลถูกเมิน
            นอกจากไม่ใส่ไข่แล้ว ยังไม่ใส่น้ำตาลด้วย แต่ไม่ใช่เรื่องน่าฉงน เมื่อร่างท้วมใหญ่ของเขาได้ตอบคำถามสุขภาพเหล่านั้นแทนเขาแล้ว
            เขานั่งกินอย่างสุขุม สีหน้าเรียบเฉย ไม่สะท้านต่อความเผ็ดร้อน ไม่นานผัดซีอิ๊วก็พร่องจนหมดกล่อง ถุงพลาสติก กล่องโฟม และซองเครื่องปรุงต่างๆ บนโต๊ะถูกเคลียร์จนสะอาด แต่มีเรื่องหนึ่งที่ยังไม่เคลียร์
            ปกติบอสไม่เคยจุกจิกเรื่องเงิน ค่าอาหารครั้งนี้ ไม่แน่ว่าเขาอาจหยิบแบงก์ร้อยให้ผมแล้วบอกว่า “ไม่ต้องทอน”
            แต่เขากลับเปิดโน้ตบุ๊กทำงานต่อ มันไม่ควรเป็นเช่นนี้ คนรอบคอบอย่างเขาไม่น่าจะลืมอะไรได้ง่ายๆ ผมสังเกตการทำงานแต่ละครั้ง เขาวางแผนไว้อย่างรัดกุม ตั้งแต่ต้นจนจบ จะบอกว่าเขาคำนวณทุกอย่างไว้แล้วก็คงไม่เกินเลยนัก
            แต่เข้าใจได้ คนเราบางครั้งหลงลืมเป็นธรรมดา ยิ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ ก็ยากที่จะเข้าไปก่อตัวในเซลล์สมอง แม้ 30 บาทจะจิ๊บจ๊อยสำหรับบอส แต่สำหรับผมมันคือการต่อชีวิตไปอีกมื้อ แต่เอาเถอะ บอสเลี้ยงผมมาหลายครั้ง คราวนี้ผมขอปิดทองหลังพระ เลี้ยงบอสแบบไม่ให้รู้ตัวบ้างแล้วกัน
            “เออ... ค่าผัดซีอิ๊วเท่าไรนะ”
            นั่นไง ผมบอกแล้ว เขาไม่พลาดอะไรง่ายๆ หรอก
            “30 บาทครับ”
            “งั้นขอเงินทอน 10 บาทให้ผมด้วย”
          ...
            คำนวณไว้แล้วสินะ

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

ขี้อาย

            จำได้ว่าตอนเด็กๆ มีขนบอยู่อันหนึ่งที่เกี่ยวกับความเป็นสุภาพบุรุษที่กรอกหูผมอยู่เรื่อยๆ จนติดมาถึงปัจจุบัน
            มันคือวัฒนธรรมบนรถโดยสารประจำทาง ที่ผู้ชายมักจะเสียสละที่นั่งให้กับบุคคลที่แข็งแรงน้อยกว่า เช่นเด็ก สตรี คนชรา คนพิการ ฯลฯ
            ทำให้ตอนเด็กๆ วัฒนธรรมนี้ฝังเข้าไปในเส้นเลือด เวลาขึ้นรถโดยสารประเภทนี้ก็มักจะคาดหวังว่าบุคคลที่บั้นท้ายสัมผัสกับที่นั่งตลอดการเดินทางนั้นไม่ควรจะเป็นชายอกสามศอก ยกเว้นกรณีที่ที่นั่งมีเหลือเฟือ ไม่มีเด็กหรือสตรีมีครรภ์ต้องยืนหิ้วโหนให้ลำบาก
            แต่พอเติบโตมาเรื่อยๆ ก็เรียนรู้ว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเลย ก็อาจจะเป็นไปได้ที่สมัยนี้ผู้คนมีความเห็นอกเห็นใจต่อสังคมน้อยลง คิดว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องแบกรับความเมื่อยล้าแทนคนอื่นที่ไม่เคยรู้จักมักจี่
            ความ “แมน” บนรถเมล์จึงไม่ค่อยมีให้เห็นกันนัก
            แต่ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ชายอกสามศอกอย่างเราๆ ก้นหนักไม่ยอมลุกให้ใครนั่งนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องขี้เกียจยืน หรือกลัวเมื่อยเท่านั้น เพียงแต่ว่าผู้ชายสมัยนี้อาจจะ “ขี้อาย” ไปหน่อย
            ขี้อายอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟัง นี่เป็นประสบการณ์ตรง
            วันหนึ่งบนรถไฟฟ้า BTS ผมซึ่งเดินทางจากสถานีต้นสาย ที่นั่งมีเหลือเฟือ ผมจึงนั่งลงตรงเก้าอี้ริมสุดติดประตู
            รถไฟฟ้าวิ่งไปเรื่อยๆ ผ่านแต่ละสถานี คนก็เริ่มมากขึ้น ที่นั่งเต็มและหลายคนต้องยืนเกาะราว ผมยังไม่รู้สึกสะกิดใจแต่อย่างใด เพราะวัฒนธรรมความแมนนั้นจางไปจากสายเลือดมากแล้ว
            จนอาม่าคนหนึ่งเดินเข้ามา แกยืนถือสัมภาระเล็กน้อย มือโหนราวอยู่หน้าเก้าอี้ที่ผมนั่ง
            เกิดเป็นความรู้สึกที่ว่า ทนนั่งดูเฉยๆ ไม่ได้ แม้แกจะดูแข็งแรง ยืนจนไปถึงสุดสายได้แบบชิลๆ แต่การที่คนหนุ่มอย่างเรานั่งสบายขณะที่ผู้หญิงอายุมากคนหนึ่งต้องมายืนเมื่อยอยู่ต่อหน้าต่อตา มันออกจะน่าละอายใจอยู่
            ผมจึงตัดสินใจวัน “แมน” โชว์ ลุกขึ้นแล้วสะกิดอาม่าให้นั่งแทนผม คนมากมายก็จ้องมองมาที่ความเคลื่อนไหวของผม นี่มันสถานการณ์สร้างวีรบุรุษชัดๆ
            “เดี๋ยวก็ลงแล้วล่ะค่ะ ไม่เป็นไร ขอบคุณมากค่ะ”
            ใบหน้าของผมเริ่มมีรอยร้าว แค่ร้าวๆ ยังไม่ถึงกับแตก แต่นั่นก็ทำให้ผมก้มหน้าหงอยลงไปนั่งจุมปุ๊กที่เดิม
            มันแปลกมากครับ ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ทำอะไรผิดเลย เป็นการทำความดีด้วยซ้ำ แต่ผมกลับอาย อายอย่างบอกไม่ถูก อายต่อความคิดของคนอื่นว่าเขาจะคิดว่าอะไร
            “ว้ายหน้าแตกเลย”
            “ฮ่าๆ โง่จัง”
            “เสร่อจริงๆ”
            ฯลฯ
            ผมจึงสำนึกได้ว่า บางทีคนเราเลือกที่จะอยู่เฉยๆ ไม่ช่วยเหลือ ไม่เสียสละ ไม่ทำความดี เพียงเพราะว่าอายที่ต้องทำอะไรไม่เหมือนคนอื่น กลัวสายตาของคนรอบข้างที่จ้องมองมา กลัวกับสิ่งที่คนอื่นคิดต่อตัวเราเอง
            ทั้งๆ ที่เรื่องที่ทำไม่ใช่เรื่องผิด และไม่เห็นน่าอายตรงไหน
            ทว่า เรื่องของผมก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การหยิบยื่นมิตรไมตรีให้คนแปลกหน้านั้นบางทีก็น่ากลัว เพราะต่างคนต่างก็ไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคิดอะไร ไว้ใจกันได้มากน้อยแค่ไหน คงเพราะเหตุนี้กระมัง สังคมของเราจึงดูเป็นสังคมของคนแปลกหน้าไปสักหน่อย
            หากทุกคนลดอคติตรงนี้ไปได้ กล้าที่จะเปิดใจ หยิบยื่นความรู้สึกดีๆ หรือแม้เพียงรอยยิ้ม ให้แก่คนที่ไม่รู้จักเพิ่มขึ้นบ้าง สังคมที่สวยงามคงจะไม่ใช่แค่ในความฝันแน่นอน
            เพราะอย่างน้อย พอผมเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งฟัง เธอบอกว่าเธอไม่คิดว่าผมเป็นตัวตลก แต่กลับกัน เธอชื่นชมในความตั้งใจของผมแม้ว่าอาม่าจะไม่รับที่นั่งของผมก็ตาม และผมก็เชื่อว่าไม่ใช่แค่เธอที่คิดเช่นนี้
            ได้ฟังแบบนี้ก็ค่อยชื่นใจ มีกำลังใจจะทำความดีมากขึ้น  แต่คราวนี้ผมอาจจะระมัดระวังตัวมากกว่าเดิมสักหน่อย เพราะการหน้าแตกกลางรถไฟฟ้านั้นยากจะทำใจให้หายเขินอายได้โดยเร็ว
            หลังจากเหตุการณ์วันนั้น ผมก็ได้ขึ้นรถไฟฟ้าจากสถานีต้นสายอีกครั้ง นั่งที่เดิม คราวนี้พิเศษหน่อย มีอาหมวยหน้าใสนั่งข้างๆ ผมยิ้มกริ่มมาตลอดทาง
            แล้วก็เจอเหตุการณ์คล้ายๆ วันนั้น แต่คราวนี้ไม่ใช่อาม่า อาจจะเป็น อาซิ้มแทน เพราะแกดูสาวกว่า แต่ก็มีเค้าของความชราสูงพอสมควร
            ผมคิดไปว่า อาซิ้มแกคงยืนไหวแล่ะน่า และเดี๋ยวอีกไม่กี่สถานีผมก็จะลงแล้ว ไว้ค่อยให้แกนั่งตอนนั้นแล้วกัน รีบลุกไปเดี๋ยวเกิดแกจะลงสถานีหน้าขึ้นมา ผมได้หน้าแตกต่อหน้าอาหมวยข้างๆ นี่แน่
            แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น

            “นั่งที่หนูก็ได้ค่ะ”
            “ขอบใจมากจ้ะ”
            . . .
            ครั้งนี้ผมหน้าไม่ร้าว และไม่หน้าแตก
            เพราะผม “ขายหน้า” ไปแล้วเรียบร้อย